ค้นหา

บทความที่ได้รับความนิยม

พบฟอสซิลกลิปโตดอนGlyptodons อายุ 20,000 ปี หลายตัว ที่สมบูรณ์และชัดเจนสุด ๆ

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2020 “ฮวน เด ดิโอส โซต้า” (Juan de Dios Sota) ชาวนาชาวอาร์เจนตินา พบฟอสซิลขนาดยักษ์ของ “กลิปโตดอน” (Glyptodons) จำนวน 4 ตัว อายุ 20,000 ปี สัตว์ดึกดำบรรพ์ที่เป็นบรรรพบุรุษของตัวอาร์มาดิลโลในปัจจุบัน โดยตัวที่ใหญ่ที่สุดมีขนาดเท่ารถเต่าของ Volkswagen เลยทีเดียว

พวกมันถูกพบอยู่ในแม่น้ำบายีมังก้า (Vallimanca) ที่แห้งแล้งในเมืองหลวง Buenos Aires ของอาร์เจนตินา (อ่านว่า บูเอโนส-ไอเรส) ซึ่งตอนแรกพบเพียง 2 ตัว แต่เมื่อนักโบราณคดีมาสำรวจเพิ่มเติมจึงพบอีก 2 ตัวที่อยู่ลึกลงไปไม่มากนัก

ปาโบล เมสซีนีโอ นักโบราณคดีจากสถาบันวิจัยโบราณคดีและบรรพชีวินวิทยาของ Pampa Quaternary ระบุว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่มีฟอสซิลของสัตว์ชนิดนี้อยู่รวมกันถึง 4 ตัว โดยแบ่งเป็นกลิปโตดอนที่โตเต็มวัย 2 ตัวและกลิปโตดอนเด็กอีก 2 ตัว ซึ่งนี่ถือว่าเป็นเรื่องที่แปลกพอสมควร เพราะปกติพวกมันจะไม่อยู่รวมกลุ่มกัน”
การค้นพบนี้ยังคงต้องศึกษาต่อไป เพื่อระบุเพศ อายุ และสาเหตุการตาย แต่ปาโบล สันนิษฐานว่า พวกมันอาจเป็นครอบครัวกลิปโตดอน ที่พ่อแม่กำลังนำทางลูก ๆ เนื่องจากฟอสซิลทั้ง 4 ตัวหันหน้าไปในทิศทางเดียวกัน ราวกับว่ากำลังมุ่งหน้าไปที่ไหนสักแห่ง

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2015 โคเซ่ อันโตนิโอ เนียบาส (Jose Antonio Nievas) พบเปลือกของกลิปโตดอน ยาวประมาณ 90 เซนติเมตร ในสภาพสมบูรณ์ ใกล้กับริมฝั่งแม่น้ำของอาร์เจนตินาเช่นเดียวกัน ซึ่งเขาได้ถ่ายภาพและถูกแชร์จนเป็นไวรัล เพราะผู้คนต่างเข้าใจผิดว่า “นี่คือไข่ไดโนเสาร์” ก่อนจะได้รับการยืนยันจากนักวิจัยของ Natural History Museum ว่านั่นมันคือเปลือกของเจ้ากลิปโตดอน ไม่ใช่ไข่ไดโนเสาร์แต่อย่างใด
👉ภาพที่ถูกเข้าใจผิดว่านี่คือไข่ไดโนเสาร์
กลิปโตดอนอาศัยอยู่บนโลกตั้งแต่เมื่อราว 20 ล้านปีก่อน ณ ทวีปอเมริกาใต้ และแพร่กระจายไปยังทางตอนใต้ของอเมริกาเหนือ ช่วงยุค Pleistocene(ไพลส-โตซีน) โดยพวกมันเป็นสัตว์กินพืชที่มีนิสัยค่อนข้างอ่อนโยน เปลือกของกลิปโตดอนมีขนาดประมาณ 150 เซนติเมตร และหนา 2 นิ้ว วิธีป้องกันตัวคือใช้หางเป็นอาวุธป้องกันตัว เนื่องจากมีขนาดใหญ่และมีตุ่มแหลมขึ้นโดยรอบ

ทั้งนี้ พวกมันสูญพันธ์ุไปเมื่อ 10,000 ปีก่อน (ในช่วงท้ายของยุคน้ำแข็ง) ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการสูญพันธ์ุนี้ แต่นักบรรพชีวินสันนิษฐานว่า พวกมันอาจถูกล่าจากมนุษย์ยุคแรกเพื่อนำกระดองมาทำที่พักอาศัย

🐸 – ตัวอาร์มาดิลโล (Armadillo) และตัวนิ่ม (Pangolin) แม้จะมีหน้าตาคล้ายคลึงกัน แต่มันเป็นสัตว์คนละชนิดและไม่ได้มีความใกล้ชิดกันแม้แต่ทางพันธุกรรมด้วย เพราะพวกมันเกิดคนละทวีป (อาร์มาดิลโลเกิดที่อเมริกาใต้และอเมริกาเหนือ ส่วนตัวนิ่มเกิดที่แอฟริกาและเอเชีย) แถมยังมีโครงสร้างทางร่างกายที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง 

โดยตัวอาร์มาดิลโลมีฟันแต่ตัวนิ่มไม่มีฟัน และเกราะบนหลังของอมาดิลโล่เป็นอวัยวะที่พัฒนามาจากกระดูกสันหลัง แต่เกราะของตัวนิ่มเป็นเกล็ดแข็งที่พัฒนามาจากขน